Thursday, November 12, 2015

วิธีกรวดน้ำ

วิธีกรวดน้ำโดยท่านธรรมรักษา จาก Thaiware
การกรวดน้ำ คือ การตั้งใจอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่เราได้ทำไว้แล้วไปให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วพร้อมทั้งรินน้ำให้ไหลลงไปที่พื้นดินหรือที่รองรับ แล้วเอาไปเทที่พื้นดินอีกต่อหนึ่งหรือรดที่โคนต้นไม้ก็ได้ เพื่อให้จำง่ายไม่สับสน จึงขอแยกเป็นข้อๆ ดังนี้
1. การกรวดน้ำมี 2 วิธี คือ กรวดน้ำเปียก คือ ใช้น้ำเป็นสื่อ รินน้ำลงไปพร้อมกับอุทิศผลบุญกุศลไปด้วย กรวดน้ำแห้ง คือ ไม่ใช้น้ำ ใช้แต่สิบนิ้วพนมอธิษฐาน แล้วอุทิศผลบุญกุศลไปให้
2. การอุทิศผลบุญมี 2 วิธี คือ อุทิศเจาะจง ได้แก่ การออกชื่อผู้ที่เราจะให้ท่านรับ เช่น ชื่อพ่อ แม่ ลูก หรือใครก็ได้ อุทิศไม่เจาะจง ได้แก่ การกล่าวรวมๆกันไป เช่น ญาติทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย เป็นต้น ทางที่ถูกควรทำทั้งสองวิธี คือผู้ที่มีคุณหรือมีเวรต่อกันมาก เราก็ควรอุทิศเจาะจง ที่เหลือก็อุทิศรวมๆ
3. น้ำกรวด ควรเป็นน้ำที่สะอาด ไม่มีสีและกลิ่น และเมื่อกรวดก็ควรรินลงในที่สะอาดและไปเทในที่สะอาด และที่สำคัญ อย่ารินลงกระโถนหรือที่สกปรก
4. น้ำเป็นสื่อ - ดินเป็นพยาน การกรวดน้ำมิใช่จะอุทิศไปให้ผู้ตายกินน้ำ แต่ใช้น้ำเป็นสื่อและใช้แผ่นดินเป็นพยาน ให้รับรู้ในการอุทิศส่วนบุญ
5. ควรกรวดน้ำตอนไหนดี ? ควรกรวดน้ำทันทีในขณะที่พระอนุโมทนาหรือหลังทำบุญเสร็จ แต่ถ้าไม่สะดวกจะทำตอนหลังก็ได้ แต่ทำในขณะนั้นดีกว่า ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ - ถ้ามีเปรตญาติมารอรับส่วนบุญ ท่านก็ย่อมได้รับในทันที - การรอไปกรวดที่บ้านหรือกรวดภายหลัง บางครั้งก็อาจลืมไป ผู้ที่เขาตั้งใจรับก็อด ผู้ที่เราตั้งใจจะให้ก็ชวดไปด้วย
6. ควรรินน้ำตอนไหน ? ควรเริ่มรินน้ำพร้อมกับตั้งใจอุทิศ ในขณะที่พระผู้นำเริ่มสวดว่า “ยะถาวาริวะหาปูรา...” และรินให้หมดเมือ่พระว่ามาถึง “…มะณิโชติระโส ยะถา...” พอพระทั้งหมดรับพร้อมกันว่า “สัพพีติโย วิวัชชันตุ...” เราก็พนมมือรับพรท่านไปจนจบ จึงจะถือว่าถูกต้อง
7. ถ้ายังว่าบทกรวดน้ำไม่เสร็จ จะทำอย่างไร ? ก็ควรใช้บทกรวดน้ำที่สั้นๆหรือใช้บทกรวดน้ำย่อก็ได้ เช่น “อิทัง โน ญาตีนังไหตุ สุขิตา โหนตุ ญาตะโย ขออุทิศส่วนบุญนี้จงสำเร็จแก่ .... (ออกชื่อผู้ล่วงลับ) .... และญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า ขอญาติทั้งหลายจงเป็นสุขเถิด” หรือจะใช้แต่ภาษาไทยอย่างเดียวก็ได้ว่า “ขออุทิศส่วนบุญกุศลที่ข้าพเจ้าได้บำเพ็ญแล้วนี้ จงสำเร็จแก่ พ่อ แม่ ญาติ ครูอาจารย์ ผู้มีพระคุณเจ้ากรรมนายเวร และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ขอจงได้รับส่วนบุญกุศลครั้งนี้โดยเร็วพลัน และโดยทั่วถึงกันเทอญ” ส่วนบทยาวๆ เราควรเอาไว้กรวดส่วนตัว หรือกรวดในขณะทำวัตรสวดมนต์รวมกันก็ได้ ข้อสำคัญ ถ้าเป็นภาษาพระ ควรจะรู้คำแปลหรือความหมายด้วย ถ้าไม่รู้ความหมาย ก็ควรใช้คำไทยอย่างเดียวดีกว่า เพราะป้องกันความโง่งมงายได้
8. อย่าทำน้ำสกปรกด้วยการเอานิ้วไปรอไว้ ควรรินให้ไหลเป็นสายไม่ขาดระยะ และไม่ควรใช้วิธี เกาะตัวกันเป็นกลุ่มหรือเป็นทางเหมือนเล่นงูกินหาง ถ้าเป็นในงานพิธีต่างๆ ให้เจ้าภาพหรือประธาน รินน้ำกรวดเพียงคนเดียวหรือคู่เดียวก็พอ คนนอกนั้นก็พนมมือตั้งใจอุทิศไปให้
9. การทำบุญและอุทิศส่วนบุญ ควรสำรวมจิตใจ อย่าให้จิตฟุ้งซ่าน ปลูกศรัทธา ความเชื่อ และความเลื่อมใสให้มั่นคงในจิตใจ ผลของบุญและการอุทิศส่วนบุญย่อมมีอานิสงค์มาก ผลบุญที่เราอุทิศไปให้ ถ้าไม่มีใครมารับก็ยังคงเป็นของเราอยู่ครบถ้วน ไม่มีผู้ใดจะมาโกงหรือแย่งชิงไปได้เลย
10. บุญเป็นของกายสิทธิ์ ยิ่งให้ยิ่งมาก ยิ่งตระหนี่ยิ่งน้อย ยิ่งอุทิศให้คนอื่นหมดเลยเราก็ยิ่งจะได้บุญหมดเลย

ลำดับของการอุทิศส่วนกุศลมีผลหรือไม่
สนทนากับพระอาจารย์เล็ก สุธมฺมปญฺโญ ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ เดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๕๔๔
ที่มา : วัดท่าขนุน
 
ถาม : แล้วอย่างที่เราทำบุญแล้ว เราจะอุทิศส่วนกุศล ลำดับที่เราอุทิศส่วนกุศลมีผลไหมคะ ว่าเราจะต้องอุทิศให้ผู้ใดก่อน?
ตอบ : เรียกว่ามีก็ได้ ขึ้นอยู่กับผู้รับ ถ้าผู้รับกำลังบารมีเขาสูงกว่า อยู่ในสถานที่ๆ สมบูรณ์พร้อม จะให้ก่อนให้หลังท่านได้แน่นอน แต่ขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเป็นพวกเปรต อสุรกาย สัมภเวสีเหล่านี้ ถ้าให้ท่านก่อนท่านก็จะได้เต็มๆ ถ้าไม่ได้ให้ท่านก่อน แต่บอกให้เป็นการทั่วไป บางทีพวกที่กำลังสูงกว่าแทรกเข้ามา เขาก็เอาไปหมด คนที่กำลังน้อยกว่าก็อาจเข้าไม่ถึง เคยเห็นเวลาโปรยอาหารแล้วสัตว์เขาแย่งกันไหม? ตัวที่แข็งแรงกว่าเท่านั้นที่จะได้ ลักษณะเดียวกัน เขาต้องการ ก็ต้องกันไม่ให้คนนี้เข้ามา
 
ถาม : ถ้าอย่างนี้ เวลาเราจะทำบุญให้ใคร เราระบุ..?
ตอบ : เจาะจง...ระบุชื่อให้เขาไปก่อนเลย แล้วค่อยอธิษฐานอย่างอื่น
 
ถาม : แล้วต้องจัดไหมคะ ว่าต้องให้ใครต่อ?
ตอบ : ก็แล้วแต่เราชอบใจ เอาตามแบบหลวงพ่อ ท่านก็ให้เจ้ากรรมนายเวรก่อน ถัดจากเจ้ากรรมนายเวร ก็เป็นเทวดาที่รักษาตัวเอง เทวดาทั้งหมดทั่วสากลพิภพ จนถึงพระยายมราช แล้วค่อยให้ญาติโยมที่ตายไปแล้ว จะใช่ญาติหรือไม่ใช่ญาติให้ทั้งนั้น
 
ถาม : แล้วอุทิศให้ตัวเองได้ไหมคะ?
ตอบ : ได้จ้ะ แต่อุทิศให้ตัวเอง อุทิศหรือไม่อุทิศตัวเองได้อยู่แล้ว ได้ตั้งแต่ตอนทำแล้ว
 
ถาม : แล้วการกรวดน้ำ กรวดน้ำอย่างไรเขาจะได้?
ตอบ : แค่เราตั้งใจ ว่าผลบุญทั้งหมดที่เราทำในครั้งนี้ ขอให้เขาโมทนา เราจะได้รับประโยชน์ความสุขเท่าไร ขอให้เขาได้รับด้วย แค่นี้เขาก็ได้รับแล้ว ไม่ต้องไปเสียเวลาเอาน้ำรดมือหรอก การเอาน้ำรดมือนั้นเป็นรูปแบบของพราหมณ์ เขาจะให้อะไรใครก็เอาน้ำรดมือคนนั้น เป็นสัญลักษณ์ว่าให้แก่คนนั้นแล้ว พระเจ้าพิมพิสารท่านเป็นพราหมณ์มาก่อน พออุทิศส่วนกุศลให้ญาติ ท่านไม่เห็นมือผี ก็เลยต้องเอาน้ำรดมือตัวท่านเอง เลยเป็นรูปแบบยึดต่อ ๆ กันมา ก็รดกันมาเรื่อย...

No comments: